ตัดสิทธิ์แล้วแน่ๆ 3 กลุ่มนี้ อดได้ใช้เงินดิจิทัล 10,000

กฤษฎีกา ไฟเขียว หรือ ไม่ได้ห้ามรัฐบาล ออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท สร้างความสับสนให้กับผู้ที่ติดตามข่าวอย่างมาก ว่าข้อสรุปแท้จริงเป็นอย่างไร?

อย่างไรก็ดี ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ออกมาชี้แจงปมดังกล่าวว่า เป็นข้อเท็จจริง ที่กฤษฎีกาได้ส่งความเห็นเกี่ยวกับ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต กลับไปให้ยังรัฐบาลแล้ว

โดยชุดความเห็นของกฤษฎีกา จะถูกนำเข้าไปพิจารณา โดย คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่อีกครั้ง

ทั้งนี้ ยืนยัน กฤษฎีกา ไม่ได้มีบทบาท และ อำนาจหน้าที่ ในการฟันธง หรือ ไฟเขียว ว่า รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล ได้หรือไม่ได้! เพียงแต่ให้ความเห็นที่เกี่ยวกับเงื่อนไขข้อกฎหมายเกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่อยากให้สังคมเข้าใจผิด

ขณะเดียวกัน การตีความเห็นของกฎษฎีกา ยังออกมาหลายทิศหลายทาง โดย หนึ่งในนั้นคือ สว.สมชาย แสวงการ ที่วิเคราะห์ หลังอ่าน บันทึกของกฤษฎีกา ว่า จริงอยู่ ใจความระบุ รัฐบาลเดินหน้าออกเป็น พ.ร.บ. กู้เงินได้ แต่รัฐบาล ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 53 และมาตรา 57 ของกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งเงื่อนไขสำคัญ ของการออกพ.ร.บ. จะต้องอยู่ภายใต้คำว่า จำเป็นเร่งด่วน และ เป็นไปเพื่อแก้วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น! พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาล ทบทวนความจำเป็นของนโยบายดังกล่าว ก่อนเกิดความผิดพลาดภายหลัง

ด้าน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ออกมาย้ำถึง การเดินหน้า การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ตามไทม์ไลน์เดิมกับสื่อ แม้ยอมรับว่า เป็นเรื่องหนักใจ และเตรียมรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งสภาพัฒน์เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ผู้เชี่ยวชาญ และคณะกรรมการของดิจิทัลวอลเล็ต ทุกคน เพราะวันนี้ ยืนยันว่า จะให้ความสำคัญกับทุกเสียง และ จะยึดความถูกต้อง เป็นหัวใจสำคัญ ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอแนะมา

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตที่มี นายจุลพันธ์ เป็นประธาน ได้ประชุมสรุปแนวทางในการดำเนินโครงการ ซึ่งมีหลายทางเลือกที่จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตที่มี นายเศรษฐา เป็นประธาน พิจารณาต่อไป โดยหนึ่งในข้อสรุปที่สำคัญคือ ตัดคนรวยออก

สำหรับแนวทาง ตัดคนรวยออก มีดังนี้

1.ตัดสิทธิคนที่มีรายได้เกิน 5 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินในบัญชีมากกว่า 5 แสนบาท ซึ่งจะเหลือผู้เข้าเกณฑ์ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.9 แสนล้านบาท

2.ตัดสิทธิคนที่มีรายได้เกิน 2.5 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินในบัญชีมากกว่า 1 แสนบาทออก ซึ่งจะเหลือผู้ที่เข้าเกณฑ์ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท

3.ให้สิทธิเฉพาะกลุ่มเปราะบางคือ ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีราว 15-16 ล้านคน ใช้งบประมาณ 1.5-1.6 แสนล้านบาท

ขณะที่เรื่องรัศมีการใช้จ่าย จะขยับจากเดิม 4 กิโลเมตร จากที่ตั้งบ้านที่มีชื่อผู้ได้รับสิทธิ เป็นภายใน อำเภอ แต่ประเด็นเหล่านี้ก็ขึ้นกับคณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจอีกที